บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ที่ให้ความสนใจ ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยม

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555


ประโยชน์ของมะเฟือง


สรรพคุณทางยา

ภูมิปัญญาไทยมีการใช้มะเฟืองสืบทอดกันมา ดังนี้

ผลมะเฟือง ดับกระหาย แก้ร้อนใน ลดความร้อนภายในร่างกาย บรรเทาอาการของนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ขับเสมหะ ใช้ขจัดรังแค บำรุงเส้นผม ช่วยให้เลือดแข็งตัวง่าย ช่วยระงับความฟุ้งซ่าน ช่วยให้หลับง่ายขึ้น และบรรเทาอาการเลือดออกตามไรฟัน

ใบและราก ปรุงกินเป็นยาดับพิษร้อน แก้ไข้ ใบสดตำใช้พอกตุ่มอีสุกอีใสและกลากเกลื้อน
ใบต้มน้ำอาบแก้ตุ่มคัน

ใบอ่อนและรากมะพร้าว ผสมรวมกันต้มดื่มแก้ไข้หวัดใหญ่

แก่นและราก ต้มกินแก้ท้องร่วง แก้เส้นเอ็นอักเสบ

 ข้อควรระวัง

          มะเฟืองมีกรดออกซาลิกสูง ผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตไม่ควรกินมะเฟืองเพราะจะเกิดอาการ  ข้างเคียงและเจ็บป่วยมากได้ นอกจากนี้แล้วมะเฟืองมีฤทธิ์ต้านการทำงานของเอนไซม์ไซโทโครม พี 450 ซึ่งมีหน้าที่ในการกำจัดยาหลายชนิด เชื่อว่าโพรไซยาไนดินบี 1 และบี 2 และ/หรือโมเลกุล 3 ซึ่งประกอบด้วยคาทีชินและ/หรืออีพิคาทีชินเป็นสารที่ออกฤทธิ์ดังกล่าว ผู้ป่วยที่กินยาลดไขมันและยาคลายเครียดตามคำแนะนำแพทย์จึงไม่ควรบริโภคมะเฟือง

 ประโยชน์ต่อสุขภาพ

        มะเฟืองมีคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชันสูง มีสารกลุ่มโพลีฟีนอลซึ่งมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันมาก สารสำคัญในกลุ่มนี้ที่พบในมะเฟือง ได้แก่ กรดแอสคอบิก อีพิคาทีชิน และกรดแกลลิกในรูปของแกลโลแทนนิน

        สารสำคัญที่แสดงฤทธิ์ต้านออกซิเดชันจากมะเฟือง คือ โพรแอนโทไซยาไนดินในรูปของโมเลกุลคู่ โมเลกุล 3 4 5  (dimers, trimers, tetramers and pentamers) ของคาทีชินหรืออีพิคาทีชิน
นอกจากนี้ มะเฟืองมีวิตามินซีมาก บรรเทาโรคเลือดออกตามไรฟัน มะเฟืองมีปริมาณพลังงาน น้ำตาลและเกลือโซเดียมต่ำ เหมาะกับการกินเพื่อควบคุมน้ำหนัก คุมน้ำตาลในเลือด หรือลดความอ้วน มีกรดผลไม้มาก ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางชำระล้างผิวกายและป้องกันการเกิดสิว


ฤทธิ์ลดน้ำตาลและสร้างไกลโคเจน

          งานวิจัยจากประเทศบราซิลในปีนี้พบว่าอนุพันธ์กลูโคไพแรนโนไซด์ของเอพิจีนิน (apigenin-6-C-beta-l-fucopyranoside) ที่ได้จากผลมะเฟืองมีผลทันทีในการลดน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน ไกลโคไซด์ดังกล่าวกระตุ้นการหลั่งอินซูลินชนิดที่ถูกกระตุ้นโดยกลูโคส และมีผลในการสังเคราะห์ไกลโคเจนในกล้ามเนื้อ soleus
         ผลในการสังเคราะห์ไกลโคเจนในกล้ามเนื้อถูกยับยั้ง เมื่อมีการใช้สารยับยั้งการส่งผ่านสัญญาณสู่อินซูลิน (insulin signal transduction inhibitor) ฟลาโวนอยด์จากมะเฟืองจึงมีฤทธิ์เป็นทั้ง antihyperglycemic (insulin secretion) และ insulinomimetic (glycogen synthesis)

เส้นใยอาหารจากมะเฟือง

          งานวิจัยจากไต้หวันพบว่าเนื้อผลของมะเฟืองมีปริมาณเส้นใยไม่ละลายน้ำสูง ส่วนใหญ่เป็นเพ็กทินและเฮมิเซลลูโลส เส้นใยเหล่านี้มีค่าทางเคมีและกายภาพ ได้แก่ ค่าการอุ้มน้ำ คุณสมบัติในการบวม การแลกเปลี่ยนสารมีประจุ สูงกว่าค่าที่ได้จากเซลลูโลส ปัจจัยดังกล่าวทำให้เส้นใยมะเฟืองมีความสามารถในการดูดซับกลูโคส และลดการทำงานของเอนไซม์อะไมเลส จึงน่าจะช่วยคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดหลังอาหารได้
         งานวิจัยดังกล่าวจึงแนะนำให้ใช้เส้นใยจากผลมะเฟืองเป็นสารพลังงานต่ำที่ทำให้อิ่มเร็ว ใช้กินโดยตรงหรือเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ได้

          จึงขอแนะนำผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักให้เลือกกินมะเฟืองผลไม้อุดมค่าชนิดนี้
คนที่มีสุขภาพดีอยู่แล้วก็น่าจะเพิ่มคุณค่าของมะเฟืองเป็นรายการผลไม้ประจำวันได้เพราะมะเฟืองให้ผลตลอดปี

ที่มา:http://www.doctor.or.th/article/detail/8866

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น